ทีโอทียื่นหนังสือนายกฯ แจงประมูลคลื่น-3จี คนละเรื่อง
ทีโอที ยื่นหนังสือถึงนายกฯ แฉข้อเท็จจริงระหว่างประมูลคลื่นความถี่ และประมูล 3จี คนละเรื่องกัน พร้อมยอมรับว่าสหภาพฯ ทีโอที ไม่มีคนทำงานโครงข่ายจริงจัง หลังพ.อ.นที โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวตำหนิ…
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. เวลาประมาณ 12.00 น. นายพรชัย มีมาก อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมาธิการวิสามัญ เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนรับเรื่อง โดยเอกสารมีใจความสำคัญ สรุปให้นายกฯ เข้าใจกรณีกล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยังสับสนเรื่อง 3จีอยู่ ว่า การประมูลคลื่นความถี่เป็นคนละส่วนกับการประมูล 3จี และเทคโนโลยีไม่เกี่ยวกับการประมูล อีกทั้ง 3จี ก็เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้งานอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เอกชนก็ได้ทดลองใช้งานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ เป็นความถี่ที่แต่ละประเทศที่รวมตัวกัน ภายใต้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศตกลงกันว่าจะใช้เป็นความถี่สากล เพราะสามารถให้เทคโนโลยียุคที่ 3 ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด
นายพรชัย กล่าวว่า เนื้อหาสรุปว่าต้องการให้นายกฯ เข้าใจการประมูลคลื่นความถี่ ไม่ใช่เทคโนโลยี 3จี เพราะ 3จี มีใช้งานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการให้เข้าใจ คือ การประมูลคลื่นความถี่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้คนที่รับข่าวสารเกิดความสับสน เพราะว่าสังคมได้รับรู้แค่ว่าการประมูล 3จี และเห็นความพิเศษของ 3จี ที่ใช้งานได้หลากหลาย จึงนึกว่าทีโอที ไม่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ คนก็จะเข้าใจทีโอทีผิด วัตถุประสงค์ครั้งนี้ เพื่อขอให้ นายกฯ พูดให้ถูกต้อง หรือถ้าเข้าไปดูเงื่อนไขต่างๆ ต้องไม่ทำให้ประชาชนที่ใช้อยู่เดิมเดือดร้อน โดยหลังจากนี้ ต้องรอดูดุลพินิจของนายกฯ โดยที่ทีโอทีไม่ได้ขีดเส้นระยะเวลา อย่างไรก็ตาม วันที่ 23 ก.ย.นี้ หากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ทีโอทีก็จะเดินหน้าต่อ
ส่วนกรณี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะประธานคณะทำงาน 3.9 จี โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่าเคยพูดคุยกับสหภาพฯ ทีโอที และสหภาพฯ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในเรื่องโครงข่ายมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ทั้ง 2 สหภาพฯ ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใดนั้น ส่วนตัวยอมรับว่า สหภาพฯ ทีโอที ไม่มีคนทำงานด้านนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ตามหลักการณ์ประมูล กทช. ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และหาทางออกของปัญหาต่างๆ ไว้แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่มี
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ทีโอที ต้องให้นายกฯ นำเรื่องโครงการขยายโครงข่าย 3จี ที่ทีโอทีมีอยู่แล้ว โดยผลักดันให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติออกมา เพื่อกู้เงินมาดำเนินการได้ และขยายโครงข่าย จากเดิม 524 สถานี ให้มีอย่างน้อย 1,500 สถานี.
โพสโดย ข่าวไอที
/ ที่มาของข่าว : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 21 – 09 – 2553