"นที" ทวิตแจงปม ทีโอที-กสท เสียรายได้


พ.อ.นที ศุกลรัตน์

พ.อ.นที โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ตอบโต้ ทีโอที-กสท หลังประมูล 3จี เผยเคยแนะวิธีสร้างโครงข่ายพื้นฐานร่วมกันมากว่า 3 เดือน เพื่อโกยรายได้ แต่ไร้วี่แววดำเนินการ…

วันที่ 21 ก.ย. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะ ประธานคณะทำงาน 3.9 จี โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี หรือ ไลเซนส์ 3จี ของ กทช. ได้ร่างประกาศ กทช. เรื่อง 3จี อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เพื่อให้องค์กรทั้งสองสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ยังได้เชิญสหภาพฯ ของทั้งสององค์กรมาพูดคุยให้ทราบถึงแนวทางที่องค์กรจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะของการแข่งขัน รวมถึงพูดคุยกับผู้บริหาร กรรมการบริษัท เพื่อให้ทราบถึงแนวทางที่ควรทำเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ สิ่งแรกที่พยายามให้เร่งดำเนินการก็คือข้อกำหนดการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ให้ใช้ร่วมกับรายเดิมก่อน ถ้ารายเดิมไม่ยอมให้ใช้ร่วมจึงจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ โดยจะต้องเผื่อให้รายอื่นใช้ร่วมด้วย เพื่อป้องกันการโครงสร้างพื้นฐานซ้ำซ้อน ลดการลงทุน เพราะการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนย่อมนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นและในท้ายที่สุดต้นทุนก็จะถูกผลักไปสู่ผู้บริโภคทุกคน ขณะที่ โครงสร้างพื้นฐาน เกิดจากสัมปทานทั้งหมดเป็นของทีโอที และ กสท แม้ว่าสัญญาจะยังไม่สิ้นสุดแต่ท้ายที่สุดต้องถ่ายโอนให้กับทั้ง 2 องค์กร

กรรมการ กทช. กล่าวต่อว่า กทช. เคยยกตัวอย่างว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ยังเหลือเวลาในสัญญาสัมปทาน 5 ปี หมดในปี 2558 ทำอย่างไร ทีโอที ควรตั้งบริษัทร่วมกับเอไอเอส โอนสาธารณูปโภคพื้นฐานไปสู่บริษัทใหม่ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ยากถ้ามีการคำนวณสิทธิการใช้งานของ เอไอเอส ออกมาเป็นมูลค่าเพื่อให้ เอไอเอส มีหุ้นส่วนในทีโอที เป็นเจ้าของหุ้นส่วนที่เหลือ เนื่องจาก บริษัท ที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานย่อมเป็นบริษัทสำคัญที่จะให้เช่าเสา สถานีฐาน และโครงสร้างอื่นๆ ให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตใช้ร่วมกัน ขณะเดียวกัน รัฐวิสาหกิจทั้งสองก็จะปรับตัวจากเดิมมีรายได้จากค่าส่วนแบ่งรายได้มาเป็นเก็บ ค่าเช่าจากการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานของผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่

ส่วน กรณีของ กสท ก็ย่อมสามารถตั้งบริษัทสาธารณูปโภคพื้นฐานร่วมกับทั้ง บริษัท โทเทิ่ล แอดเซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะทำให้เกิดบริษัทผู้ผลิตโครงสร้างพื้นฐาน โดย กทช.ได้พูดคุยกับทั้ง 2 สหภาพฯ ผู้บริหารและกรรมการ มากว่า 2-3 เดือนแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินแต่ประการใด

สำหรับ อีกแนวทางสำคัญที่คณะกรรมการ 3จี ได้พยายามกำหนดเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจขององค์กรทั้งสอง คือ แนวความคิดบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเดิม ในประกาศ กทช.ฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องเช่าโครงข่ายหลัก (Back bone) ที่มีอยู่เดิมก่อน ถ้าจะสร้างใหม่จะต้องขออนุญาตจาก กทช.เนื่องจาก การสร้างโครงข่ายหลักเพิ่มเติมเป็นสิ่งยุ่งยาก ต้องใช้ทรัพยากรสาธารณะ ทั้งเสาไฟฟ้าหรือการวางโครงข่ายไปตามถนน เช่นเดียวกับท่อก๊าซของ ปตท. ดัง นั้นการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใหม่ต้องเช่าที่มีอยู่เดิมก่อนเป็นช่องทางของ ทีโอที และ กสท ให้มาร่วมใช้โครงข่ายที่ทั้งสองบริษัทมีอยู่เดิม

พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า ท้ายสุดโครงข่ายหลักของทีโอที และ กสท จะเป็นโครงข่ายแห่งชาติ มีรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดความมั่นคงในโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ ขณะที่ บทบาทขององค์กรรัฐวิสาหกิจทั้งสองยังมีความจำเป็นและสำคัญ ในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรสาธารณะและคนกลาง ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

โพสโดย ข่าวไอที

/ ที่มาของข่าว : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 21 – 09 – 2553