นักวิชาการชี้ร่าง กม.กสทช.ยังเสี่ยงมีปัญหาฟ้องร้อง
“ทรู” เผยประมูล 3จีถูกระงับทำบริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังมีเคเบิลทีวี-ดาวเทียม เลี้ยงตัวเอง สงสารคนรุ่นใหม่ ไม่ได้สัมผัสเทคโนโลยีทันสมัยเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” ชี้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.กระบวนการสรรหากรรมการ เสี่ยงมีปัญหาฟ้องร้อง…
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายขจร เจียรวนนท์ คณะกรรมการบริหาร บริษท ทรูมูฟ จำกัด เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอการประมูลใบอนุญาต 3จี ว่า ถือเป็นความเสียหายโดยรวมของประเทศ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยี 3จี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ หากจะรอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อน ก็ต้องใช้เวลาในการคัดสรร วางคลื่นความถี่ และศึกษาการประมูลใหม่ ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี
“เราช้ามา 10 ปีแล้ว ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็กำลังศึกษา 4จี หลังจากที่ใช้ 3จี มานาน ลาวก็มี 3จีมานานแล้ว เหลือแต่เพียงคนรุ่นใหม่ของประเทศไทยที่ยังไม่ได้พบเทคโนโลยีใหม่อย่าง 3จี ไม่รู้ว่าจะสู้กับประเทศอื่นอย่างไร มีแต่ถอยหลัง” นายขจร กล่าว
ด้านนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำตัดสินให้ชะลอการประมูลใบอนุญาต 3จี ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม้ว่าภาพรวมจะกระทบต่อบริษัทสื่อสารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการในระบบ 3จี ได้นั้น ในฐานะที่ ทรู เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านสื่อสาร คงได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถดำเนินกิจการ 3จีได้ แต่หากดูผลประกอบการที่ผ่านมา ทรู ก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากมีกิจการที่ดูแล ทั้งเคเบิลทีวีและดาวเทียม ซึ่งสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่รอเทคโนโลยี 3จี และสามารถสร้างกำไรให้ตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม เสียดายที่ประเทศไทยไม่มีระบบ 3 จีใช้ เป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจ
“ในส่วนของทรู ก็มีระบบอื่นที่ใกล้เคียงกับระบบ 3 จี ที่จะให้บริการกับลูกค้าได้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าการที่ศาลปกครองชะลอในช่วงแรก อาจจะทำให้หุ้นของทรูตกลงไปบ้าง เพราะนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นของการทำงานของทรูเป็นอย่างดี รวมทั้ง ทรู ก็อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับทางบริษัทฯ ” นายธนินท์ กล่าว
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า หากประเมินการจัดตั้ง กสทช. คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี เรื่องดังกล่าว ถือว่าล่าช้ามากแล้ว แม้ พ.ร.บ.กสทช. จะถูกส่งเข้าสภาแล้วแต่กระบวนการยังไม่คืบหน้า ทราบว่ากระบวนการสรรหา กสทช. ซึ่งตามร่างดังกล่าวค่อนข้างใหญ่ มีจำนวนประมาณ 14 คน อาจมีการฟ้องร้องในกระบวนการดังกล่าว รวมถึงประเด็นที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีปัญหาความชอบทางรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวเนื่องทางกฎหมายอีกหลายประเด็น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
“เนื่องจากกฎหมาย กสทช. ยังไม่ผ่านสภา จึงต้องรอให้ผ่านสภาเสียก่อน ค่อยเข้าสู่กระบวนการสรรหา โดย กสทช. ชุดใหม่จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลอีกครั้ง คาดว่าจะกินเวลาพอสมควร ต่อไปคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเหตุปัจจัยทางข้อกฎหมายอื่นๆ เราเห็นภาพแล้วว่าขนาด กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ก็ยังตั้งไม่ได้ในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้เกิดปัญหากรรมการร่วม ส่งผลไปถึงการจัดทำแผนแม่บท ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระงับประมูลใบอนุญาต 3จีนั้น เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในหลายกลุ่ม” นายวรเจตน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายวรเจตน์ เห็นว่า หากมีการประมูล 3จี ก็ยังต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งในการทำโครงข่าย กว่าจะเกิดการให้บริการเต็มรูปแบบก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีกว่าจะได้ใช้จริง.
โพสโดย ข่าวไอที
/ ที่มาของข่าว : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 23 – 09 – 2553